ละครหุ่นจากกระติบข้าวเหนียวและเครื่องจักสานเพื่อสืบสานวัฒนธรรม
เปิดตัวครั้งแรกอย่างสุดประทับใจผู้ชมของ "คณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง" การแสดงละครหุ่นแนวใหม่ผลงานนักศึกษา ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อคนทุกวัยบนรากเหง้าวัฒนธรรมอีสาน
อ่าน 531 ครั้ง
29 พ.ย. 2562
Udomchai Supanavong
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เวลา 19.00 น.ที่คุ้มสีฐาน ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการเปิดตัวการแสดงของ "คณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง" ภายใต้โครงการนวัตศิลป์อีสาน (ISAN Arts and Crafts Innovation) ตอน “สืบศิลป์อีสาน สรรสร้างการแสดงหุ่นร่วมสมัย” ของศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา พร้อมด้วยผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้สนใจจากภายนอกเข้าร่วมชมเป็นจำนวนมาก
กิจกรรม “สืบศิลป์อีสาน สรรสร้างการแสดงหุ่นร่วมสมัย” ภายใต้โครงการนวัตศิลป์อีสาน ของศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการในระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 23 พฤศจิกายน 2562 ณ วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ คุ้มสีฐาน ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้แก่นักศึกษาเครือข่ายศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สามารถเข้าใจรากเหง้าและภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมอีสานผ่านกระบวนการสร้างสรรค์การแสดงหุ่นร่วมสมัยร่วมกับศิลปิน-ปราชญ์ชาวบ้าน อีกทั้งเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะความรู้ในการผลิตผลงานศิลปะการแสดงหุ่นอีสานร่วมสมัย/สื่อศิลปวัฒนธรรมอีสาน ในรูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของคนอีสานรุ่นใหม่ได้ นำไปสู่การตระหนักรู้ด้านอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานศิลปวัฒนธรรมอีสาน และการเรียนรู้ร่วมกันของระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมจากชุมชนอีสาน โดยมีรูปแบบของกิจกรรมด้วยการเชิญชวนนักศึกษาที่มีความสนใจจำนวน 30 คนเข้าร่วมกิจกรรมเสริมทักษะและการทำworkshop ที่เข้มข้นจากปราชญ์ชาวบ้านและนักวิชาการทางวัฒนธรรม ตลอดจนการนำชมภาพเขียนฮูปแต้มโบราณ เพื่อเป็นการให้ความรู้ที่เป็นรากเหง้าภูมิปัญญา ทั้งด้านศิลปการแสดง ดนตรีพื้นเมือง และการสร้างสรรค์ผลิตหุ่นกระบอกและหุ่นเงาจากวัสดุพื้นบ้านอีสาน เพื่อนำมาสู่การผลิตหุ่นขึ้นมาใหม่ด้วยจินตนาการอย่างปราณีตแปลกตาโดยเน้นการนำหัตถกรรมจักสานและกระติบข้าวมาเป็นวัสดุหลัก รวมทั้งการคิดค้นดนตรี และท่วงท่าการแสดงที่มีความร่วมสมัย สอดแทรกอารมณ์ขัน และคติคำสอน ท่วงท่าการแสดงที่มีความสนุกสนาน ดึงดูดความสนใจจากผู้ชมทุกเพศวัย จนเกิดเป็นคณะหุ่นคณะแรกของมหาวิทยาลัยขอนแก่นชื่อ “คณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง” ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันเป็นผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เข้าร่วมโครงการ
อาจารย์ พชญ อัคพราหมณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะวิทยากรในโครงการและผู้ฝึกสอน “คณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง” กล่าวว่า ที่มาของการจัดกิจกรรมเกิดขึ้นจากแนวคิดของรศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีดำริที่จะให้เกิดงานศิลปะแนวใหม่ขึ้นในมหาวิทยาลัย ซึ่งผมเองมีความสนใจการทำละครหุ่นร่วมสมัยอีกทั้งในช่วงปี 2559-2562 ยังได้ทำการวิจัยเรื่องการสร้างสรรค์การแสดงหุ่นร่วมสมัยเรื่องสินไซ เพื่อค้นหารูปแบบการแสดงหุ่นเรื่อยมา ซึ่งแนวคิดผลงานมันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สูงมาก ยังทำให้คนได้รู้จักศิลปวัฒนธรรมอีสานได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาของเราที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งนี้ เป็นการสร้างหมุดหมายของพื้นที่แห่งใหม่ที่จะให้นักศึกษาของเราได้มาเรียนรู้ศิลปวัฒธรรมอีสานในมิติที่หลากหลายมากขึ้น แล้วยังเป็นเสมือนการเปิดบ้านของเราให้กับผู้รู้และศิลปินเข้ามาเพื่อถ่ายทอดความรู้ฝึกฝนให้กับนักศึกษาของเราเช่น การสอนทำหุ่นจากเครื่องจักสาน กระติบข้าวเหนียว การนำชมฮูปแต้มวัดไชยศรี เรียนรู้วรรณกรรมอีสาน เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้เห็นคุณค่าความงามของศิลปอีสาน นอกจากนี้เรายังเชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอื่นๆเช่นมหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสอนทักษะดนตรีและการแสดงต่างๆอีกด้วย เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เปิดพื้นที่การทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจากรากของศิลปวัฒนธรรมอีสานเป็นพื้นที่ใหม่ที่เชื่อมโยงคนภายนอกกับภายในที่จะมาถ่ายทอดความรู้อันเป็นมิติที่น่าสนใจ
สำหรับการแสดงของ "คณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง" ในครั้งนี้ถือเป็นการแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ชมเป็นครั้งแรก และเป็นคณะละครหุ่นสร้างสรรค์คณะแรกของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้นำเอาการแสดงเรื่องสังข์สินไซ ตอน นาคยุทธกรรม (War of underwater world) มาจัดแสดงในรูปแบบละครหุ่นกระบอก หุ่นเชิด สลับกับหุ่นเงาเพื่อเล่าเรื่องโดยมีผู้บรรยายและดนตรีพื้นเมืองอีสานประกอบเรื่องได้อย่างลงตัว ซึ่งในบทพากษ์ของการแสดงยังแทรกมุขตลกที่มีความร่วมสมัยที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนานและมีอารมณ์ร่วมไปกับเหตุการณ์ในเรื่อง ทั้งนี้ผู้แสดงต้องใช้ความสามารถในการเชิดหุ่นได้อย่างมีชีวิตชีวา มีลำดับการแสดงสลับกับหุ่นเงาได้อย่างต่อเนื่องเป็นที่ประทับใจ สามารถเรียกเสียงปรบมือได้ตลอดการแสดง นอกจากนี้นักแสดงยังได้สร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมกับผู้ชมด้วยการนำหุ่นกระบอกออกมาให้ผู้ชมได้สัมผัสทดลองและร่วมบันทึกภาพอีกด้วย
“คำว่าร่วมสมัยของละครหุ่นนั้นเรามองได้2อย่าง ส่วนแรกคือบทละครเองมันสามารถเชื่อมต่อกับคนในสภาวการณ์ปัจจุบันได้เช่นคุณธรรมนักปกครองหรืออื่นๆที่เราต้องการสื่อสารลงไปในบทได้ ส่วนที่2คือรูปลักษณ์และเทคนิคของหุ่นที่เราจะสร้างความน่าสนใจให้กับผู้ชม ซึ่งผมหวังว่าละครหุ่นคณะนี้จะเป็นฑูตทางวัฒนธรรมเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมเพื่อบอกให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นยังคงทำหน้าที่ของเราในการสืบสานงานวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป” อาจารย์พชญ อัคพราหมณ์ กล่าว
การแสดงละครหุ่น เป็นสื่อให้สาระบันเทิงทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่เข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัยนั้น เพราะเป็นศิลปะที่มีความผูกพันกับมนุษย์มายาวนาน กำเนิดมาจากความเชื่อ พิธีกรรม และพัฒนามาเป็นการละเล่นที่ปรากฏอยู่ในภูมิภาคต่างๆของไทย จัดเป็นมหรสพที่ให้ความบันเทิง สนุกสนาน เป็นศิลปะที่มีความงามและสุนทรียะ (Aesthetics) ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือถ่ายทอดศีลธรรม ความรู้-ความคิดที่ดีงามแก่ชาวบ้าน เมื่อขยับมาที่การแสดงหุ่นในภาคอีสาน มีข้อสันนิษฐานได้ว่า มีการแสดงประเภทหุ่นเงา ซึ่งเกิดจากการที่คนอีสานไปทำงานที่ภาคใต้หรือคนจากปักษ์ใต้เดินทางมาทำงานที่ภาคอีสาน ได้นำเอาศิลปะการแสดงหุ่นเงาหรือหนังตะลุงมาดัดแปลงและสร้างสรรค์ให้เข้ากับศิลปวัฒนธรรมอีสานจนกลายเป็นหนัง ประโมทัย หรือหนังบักตื้อในภาษาท้องถิ่น ต่อมาเป็นหุ่นกระบอกอีสาน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากหุ่นกระบอกภาคกลาง และประเภทสุดท้ายคือ หุ่นสร้างสรรค์ ซึ่งศิลปิน-นักพัฒนา ได้นำแนวคิดศิลปะเพื่อการพัฒนามาใช้ในการสร้างสรรค์สื่อละครหุ่นเพื่อการพัฒนาคุณภาพเยาวชนและชุมชนในภาคอีสาน จะเห็นได้ว่าการแสดงหุ่นในภาคอีสานเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความสำคัญ และมีคุณูปการต่องานทางด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นศิลปะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความงดงาม และสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นอีสาน
ข่าว/ภาพ อุดมชัย สุพรรณวงศ์
ภาพ /ขอบคุณ เพชเฟสบุค ฝ่ายส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าวอื่นๆในหมวดหมู่
- พิธี “สืบทอดปณิธาน อุดมการณ์มอดินแดง” ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปี 2562
- พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2562
- ปลื้มปีติ! บัณฑิตจีน มข. เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร กรมสมเด็จพระเทพฯ
- มข.สืบสานวัฒนธรรมเทศกาลไหม คว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ
- นศ.สถาปัตย์ เข้าดูงานทางด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้าง
ข่าวล่าสุด
- เปิดอาคารวิทยวิภาส อาคารใหม่คณะวิทยาศาสตร์ มข.
- เสด็จเปิดอาคารวิทยวิภาสและวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศ
- มข.ต้อนรับผู้สื่อข่าวในพระราชสำนัก พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปี2562
- พิธี “สืบทอดปณิธาน อุดมการณ์มอดินแดง” ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปี 2562
- พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2562
ข่าวหนังสือพิมพ์
- กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปธ.บอร์ดวัตถุอันตราย
- คอลัมน์: มุมข้าราชการ: ศาสตราจารย์ใหม่ (กรอบบ่าย)
- ภาพข่าว: รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล (กรอบบ่าย) AI for Education
- คอลัมน์: เรารักอาเซียน: การแข่งขันทางการค้า ในประชาคมอาเซียน
- กัญชา...เหน็บก้น (กรอบบ่าย) ยาเหน็บจากสารสกัดกัญชาที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกาย
- แกงหน่อไม้แซ่บใส่ซองภูมิปัญญาผสานเทคโนโลยี (กรอบบ่าย)